ธุรกิจเฮรับร่างกม.แรงงานฉบับใหม่ ยืดใบอนุญาต/เปลี่ยนงาน-นายจ้าง

ภาคธุรกิจขานรับ ร่าง พ.ร.ก.แรงงานฉบับใหม่ ช่วยลดภาระผู้ประกอบการ เพิ่มอายุใบอนุญาตจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ผ่อนปรนให้แรงงานเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้างได้ ครม.พิจารณาเข้มเน้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-สิทธิมนุษยชน ส่งกฤษฎีกาทบทวนก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.คราวต่อไป

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคน ต่างด้าว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 แต่เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนั้นมีความเข้มข้นและเกิดผลกระทบต่อแรงงาน ต่างด้าว ผู้ประกอบการ-นายจ้าง ในหลายมิติและกระทบในวงกว้าง ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อขอความเห็นชอบ

ผ่อนคลาย-ช่วยลดภาระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าว มีเนื้อหาหลัก ๆ ประกอบด้วย กำหนดให้ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ สำหรับบุคคลที่เข้ามาเป็นการครั้งคราว เพื่อประชุม อบรม หรือผู้แทนของนิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต บุคคลที่เข้ามาประกอบการหรือลงทุน หรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหรือทักษะสูงอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ประเทศ ตามที่ ครม.กำหนดกำหนดหลักเกณฑ์กลางในการออกกฎหมายลำดับรอง และการกำหนดวิธีการแจ้งตาม พ.ร.ก.นี้ ซึ่งต้องไม่สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ ยังให้ยกเลิกการขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน การขออนุญาตเปลี่ยนประเภทงาน นายจ้าง ท้องที่ทำงานของคนต่างด้าว และการขออนุญาตในรายละเอียด ซึ่งเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร โดยกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างและคนต่างด้าวแจ้งต่อนายทะเบียน และให้การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่ทำในลักษณะที่ทำให้แรงงาน ต่างด้าวต้องหยุดทำงานเกินเหตุพอสมควร หรือทำให้การประกอบการของนายจ้างต้องสะดุดหยุดลง หรือทำในเวลากลางคืนโดยไม่จำเป็นรวมทั้งมีการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการ ประกาศกำหนดเขตที่พักอาศัยสำหรับผู้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะพวกใด หรือท้องที่ใด เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และหลักสิทธิมนุษยชน กำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนายจ้างคนต่างด้าวในงานที่สามารถที่ จะจ้างคนไทยได้ แต่ประสงค์จ้างแรงงานต่างด้าวเกินสัดส่วนที่กำหนดเพื่อรักษาโอกาสอาชีพให้คน ไทยแก้ไขเพิ่มเติมอายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้าทำงานจาก 2 ปี เป็น 5 ปี แต่คนที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายปี และปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสม โดยเพิ่มบทกำหนดลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ และปรับลดอัตราโทษจากเดิมที่อัตรารุนแรงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

นายจ้าง-ธุรกิจขานรับ

นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะช่วยให้การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวทำได้ คล่องตัวมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งข้อดี ข้อเสีย โดยข้อดีจะตกอยู่ที่แรงงานต่างด้าวที่สามารถเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้างได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเหมือนตอนนี้

ขณะเดียวกันก็เป็นข้อเสียสำหรับนายจ้าง ที่เมื่อลูกจ้างมีอิสระมากขึ้น อำนาจการต่อรองค่าจ้างก็มีมากขึ้น อัตราการเข้า-ออกงานก็จะสูงขึ้นด้วย หากกฎหมายออกมา นายจ้างก็ต้องทำตาม แต่ก็อยากให้มีข้อกำหนดมาดูแล ให้การเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ฯลฯ เป็นความสมัครใจของทุกฝ่าย

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นตนได้มอบหมายให้กรรมการหอการค้าไทยที่ดูแลและติดตามว่า ร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่กำลังจะออกมา สอดคล้องกับสิ่งที่หอการค้าไทยได้เสนอข้อคิดเห็นไปก่อนหน้านี้หรือไม่ และจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ และจะมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาหารือต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้หอการค้าไทยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงาน ของคนต่างด้าว เช่น เรื่องค่าปรับ หรือจุดรับลงทะเบียนคนต่างด้าว เป็นต้น

อสังหาชี้จัดระเบียบต้องโปร่งใส

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายแรงงานต่างด้าวรอบใหม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมามีผลต่อการทำงานในระบบเศรษฐกิจเมืองไทย ซึ่งปีหน้ามีแนวโน้มเป็นภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ดังนั้นการจัดระเบียบนำเข้าแรงงานจะทำให้เกิดความโปร่งใส ทำให้แรงงานไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าการแก้ไขกฎหมายออกมาตรงตามที่ภาคเอกชนเคยหารือในที่ประชุมร่วม กับกระทรวงแรงงานหรือไม่ รวมทั้งต้องดูว่าภาคปฏิบัติจะดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับการเรียกร้องเงินนอกระบบของเจ้า หน้าที่รัฐ

นายอธิปกล่าวด้วยว่า นอกจากแก้ไขกฎหมายแล้ว รัฐบาลควรปรับปรุงการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยจัดให้มีสำนักงานถาวรร่วมกันใน รูปแบบ co-office ระหว่างไทยกับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา ลาว มีการส่งเจ้าหน้าที่ประเทศต้นทางมาอำนวยความสะดวกอย่างถาวร และให้เขาได้ประโยชน์ เช่น รายได้ค่าธรรมเนียม โดย co-office ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแบบบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวหรือวัน สต็อป เซอร์วิส เพราะสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลใช้ ม.44 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเฉพาะกิจ ไม่ได้แก้ไขปัญหาถาวร

ส่งกฤษฎีกาดู-รอประชุมใหม่

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้พิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยที่ประชุมได้พิจารณากันอย่างกว้างขวาง และตั้งข้อสังเกตหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การจัดโซนนิ่งเขตที่พักอาศัยสำหรับผู้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะพวกใด หรือท้องที่ใด ไม่สามารถทำได้เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 เรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ขณะที่เรื่องการกำหนดอัตราโทษก็ควรกำหนดให้เกิดความเหมาะสมตามฐานความผิด หนักหรือเบา เนื่องจากบทลงโทษบางฐานความผิดค่อนข้างรุนแรงเกินไป

“ที่ประชุมจึงเห็นว่า ควรให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำกลับไปทบทวนพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.ในคราวต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Facebook Comments

GET THE BEST DEALS IN YOUR INBOX

Don't worry we don't spam

ผู้หลงใหลในเรื่องขยะรีไซเคิล, การจัดการขยะ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมกลุ่มผู้ประกอบการรีไซเคิลให้แน่นแฟ้นและแข็งแกร่ง

X
- Enter Your Location -
- or -
สมัครสมาชิกใหม่
รีเซ็ตรหัสผ่าน
Compare items
  • Total (0)
Compare
0